ด้านมืดวงการอาหาร รีวิวหนัง เดอะเมนู สิ่งที่เคยมีความสุข…วันนี้กลับไม่สุขอีกต่อไป

Posted 2022/12/12 87 0

ด้านมืดวงการอาหาร เรื่องราวของเชฟผู้ที่เคยหลงใหล และมีความสุขกับการทำอาหาร แต่กลับมาลงเอยด้วยความทุกข์และการแก้แค้น

ด้านมืดวงการอาหาร เป็นเรื่องราวที่เรียกได้ว่า นานๆ ทีถึงจะมีภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับการทำอาหาร แต่แฝงไปด้วยการผสมความสยองขวัญ เข้ากับแนวคอมเมดี้ ที่ออกมาเป็นเรื่องราวของ เชฟสโลวิก (รับบทโดยเรล์ฟ ไฟนส์) ผู้รักความสมบูรณ์แบบ และความเป็นระเบียบอย่างสุดโต่ง ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้น เมื่อเชฟสโลวิกจัด ไฟน์ไดนิ่ง (คือการทานอาหารที่อร่อย คนทานทานแล้วมีความสุขกลับไป) ที่หรูหราบนเกาะอันแสนสงบ

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจกับ กิจกรรมที่มีชื่อว่าไฟน์ไดนิ่ง กันก่อน หลักๆ เลยก็คือกิจกรรม การรับประทานอาหาร ที่ได้ทั้งความอร่อย ความสุข และเป็นที่จดจำ ซึ่งมักจะอยู่ในร้านอาหาร หรือภัตตาคารระดับพรีเมี่ยม ที่พร้อมเสิร์ฟทั้งอาหาร และเครื่องดื่ม ที่ปรุงขึ้นมาจากวัตถุดิบคุณภาพดี ที่ถูกคัดสรรมาอย่างดี และอาหารแต่ละจานจะมีมาตรฐาน ในเรื่องของรสชาติ และการตกแต่งจาน รวมไปถึงการบริการ ที่เหนือกว่าร้านอาหารทั่วไปอย่างชัดเจน ถ้าจะพูดจำกัดความสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ ก็คืออร่อยอย่างมีระดับ นั่นแหล่ะ

ด้านมืดวงการอาหาร

กลับมาที่เนื้อเรื่องกันต่อ เมื่อเชฟระดับหัวกะทิได้จัดงานขึ้น แต่ทว่าดินเนอร์ครั้งนี้ กลับกลายเป็นมื้ออาหารแห่งการล้างแค้น แต่ละเมนูค่อยๆ เพิ่มระดับความน่าขนลุกขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีใคร หนีออกไปจากห้องอาหารแห่งนี้ได้ เพราะนอกจากจะเป็นเกาะแล้ว ยังไม่มีแม้แต่สัญญาณโทรศัพท์ ให้ติดต่อคนภายนอก และถึงแม้หนังเรื่องนี้ จะสื่อสารกับคนดูได้หลากหลายแง่มุม และแน่นอนว่าไม่ใช่หนังชวนซึ้ง (แถมยังหลอนอีกต่างหาก)

แต่ความรู้สึกที่สัมผัสได้จากภาพยนตร์ มีฉากหนึ่งที่คิดว่าน่าสนใจ นั่นคือตอนที่มาร์โก้ (รับบทโดยแอนยา เทย์เลอร์-จอย) บังเอิญไปเจอภาพเชฟสมัยหนุ่มๆ ที่ยิ้มอย่างมีความสุข ในฐานะพนักงานดีเด่นของร้านเบอร์เกอร์ ต่างไปจากภาพชายผู้เยือกเย็น ไร้ความรู้สึกในร้านอาหารหรูหราตรงหน้า มาร์โก้เลยลองขอให้เขาทำเบอร์เกอร์ แบบร้านข้างถนนที่ห้ามซับซ้อน ห้ามประดิษฐ์ประดอย ให้ดูพิเศษจนเกินไป แต่เป็นเมนูแบบร้านฟาสต์ฟู้ด ธรรมดาๆ เท่านั้น

และระหว่างที่เชฟของเราค่อยๆ เริ่มกระบวนการทำอาหารแสนธรรมดานี้ ด้วยการจับขนมปัง ทอดเนื้อ จัดวางวัตถุดิบแต่ละชิ้น ออกมาเป็นเบอร์เกอร์แสนธรรมดา ใบหน้าของเขาค่อยๆ ผ่อนคลาย เช่นเดียวกับแววตาที่ดูอ่อนโยนลงทีละน้อย แม้ไม่ถึงขั้นยิ้มร่ามีความสุข แต่นับว่าเป็นเสี้ยววินาที ที่สัมผัสได้ถึงความรื่นรมย์ ชวนให้เรานึกขึ้นได้ว่า ก่อนหน้านี้เขาเองก็คงเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ที่เคยสนุกกับการทำอาหาร เดินเข้าครัวด้วยความสุขและภาคภูมิใจ ก่อนจะกลายเป็นเชฟผู้เคร่งเครียด และสะสมความแค้น จนกลายเป็นเหมือนปิศาจที่ไร้หัวใจ

นั่นเป็นเพราะชีวิตที่ต้องผ่านทั้ง ความเจ็บปวด การแข่งขันที่ต้องประชันความเป็นหนึ่ง ความกดดันจากเจ้าของร้านอาหาร คำพูดเสียดแทงจากนักวิจารณ์ ระบบการทำงาน ที่ไม่อนุญาตให้เขาได้พักหายใจ อย่างเต็มอิ่ม การต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ขณะที่ลูกค้าบางคน จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่า เขาเคยทำเมนูอะไรไปบ้าง ทุกอย่างรอบตัวค่อยๆ หล่อหลอมให้เขาตั้งความคาดหวังว่า ทุกจานจะต้องออกมาสมบูรณ์แบบ

และผลที่ได้จากการอยู่ในวงการนี้ ทั้งด้านฝีมือที่พัฒนาจนหาตัวจับยาก และการต้องรับความคาดหวังต่างๆ จากทั้งลูกค้า และการแย่งชิงความเป็นหนึ่ง รวมทั้งความลุ่มหลงในอำนาจ ที่ได้เป็นหัวหน้าเชฟฝีมือดี และมีชื่อเสียงโด่งดัง สิ่งเหล่านี้คอยกัดกินหัวใจของเขาทีละน้อย จนตัวตนของสโลวิก ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เบอร์เกอร์แสนธรรมดาในเรื่องนี้ เลยเป็นเหมือนตัวแทนของสิ่งที่เชฟสโลวิก ทำหายไประหว่างทาง นั่นคือ ความสุขและเหตุผลว่า ทำไมเขาจึงเริ่มต้นทำสิ่งนี้มาตั้งแต่ต้น

เรื่องราวทั้งหมดนี้ ก็เหมือนกับการสะท้อนชีวิตจริง ของเชฟหลายๆ คนได้เหมือนกัน

ซึ่งความเครียดสะสมในชีวิตจริง ของเหล่าบรรดาเชฟมือทอง ถ้าย้อนกลับมามองในชีวิตจริง แล้วลองนึกภาพร้านอาหาร ที่ผสานทั้งศิลปะและงานบริการ แน่นอนว่าคงไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับคนทำงานสายนี้ เพราะต้องคอยรักษามาตรฐานที่ดีไว้ อย่างไร้ที่ติ ตั้งแต่รสชาติไปจนถึงการบริการ ซึ่งการสำรวจความคิดเห็นของเชฟ ในในสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2019 พบว่า 8 ใน 10 เคยเจอปัญหาสุขภาพใจ ในระหว่างการทำงาน

โดยสาเหตุอันดับต้นๆ ของปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ คือการขาดแคลนคน ขาดแคลนเวลา และต้นทุนที่จำกัด รวมทั้งการทำงานแบบ ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ซึ่ง 41% บอกว่าการไม่ได้ไปเจอแสงแดดข้างนอก เลยส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของพวกเขา ได้เหมือนกัน เช่นเดียวกับเควิน เรย์โนลด์ส เชฟที่อยู่ในสายงานนี้มากว่า 2 ทศวรรษ เขาให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาหลักที่ตัวเองเจอ คือการทำงานล่วงเวลา หรือทำงานหนักจนเกินไป ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ และชีวิตขาดสมดุล ตามมาด้วยปัญหาสุขภาพ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

และไม่ได้มีแค่อาชีพนี้อาชีพเดียว ที่ต้องเผชิญกับปัญหา และความเครียดที่สะสม ซึ่งอาชีพอื่นๆ ก็มีโอกาสหลงลืมความสุข แบบเชฟสโลวิกได้เหมือนกัน บางคนอาจจะเบื่อหน่าย รู้สึกหมดไฟในสิ่งที่เคยหลงใหล เพราะถูกโลกการทำงาน ที่บั่นทอนความสุขของเราไปทีละน้อย ซึ่งโมเดลในงานวิจัยของ คริสติน่า มาสลัค และไมเคิล พี. ไลเตอร์ อธิบายว่า สาเหตุของอาการหมดไฟ มาจาก 6 ด้านหลักๆ ด้วยกันคือ การทำงานหนักเกินไป ความรู้สึกขาดอิสระในการทำงาน

การไม่ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม ทั้งด้านการเงินและจิตใจ ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ความยุติธรรม และมุมมองต่อคุณค่าของงานที่ทำ ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้น เราคงไม่สามารถควบคุมทั้ง 6 อย่างนี้ได้ทั้งหมด เลยไม่น่าแปลกใจที่ความหลงใหล จะหายไปทีละน้อย หรือแม้แต่การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น โดยเฉพาะในโลกโซเชียลมีเดีย ที่กดดันให้เรา และอยากจะวิ่งตามให้ทันคนอื่นๆ บ้าง จนลืมถามตัวเองไปว่า ตอนนี้มีความสุขดีไหม?

แม้ทั้งหมดนี้ จะเน้นในเรื่องของการทำงานเป็นหลัก แต่ไม่ได้หมายความว่า เราทุกคนจะต้องรักงานที่ตัวเองทำเสมอไป เพราะบางที โมเมนต์ทำเบอร์เกอร์ แบบเชฟในเรื่องนี้ อาจเป็นการอนุญาตให้ตัวเองได้ทำอะไรธรรมดาๆ แต่มีความสุข เช่นการนั่งดูการ์ตูน วาดรูป กินไอติม หรือวางบทบาทความเป็นผู้ใหญ่ลงไป แล้วใช้ชีวิตสนุกๆ บ้าง เพราะการทุ่มเทเพื่อให้เราดีขึ้น เก่งขึ้น หรือประสบความสำเร็จเป็นเรื่องสำคัญ และเข้าใจได้ว่า ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน

แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการที่เรายังได้ทำสิ่งอยากทำ และมีความสุขที่ได้ทำ หรือเรียกง่ายๆ ว่ามีโมเมนต์ความสุข เป็นของตัวเองไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ไม่งั้นอาจจะเป็นแบบ สิ่งที่เคยทำด้วยความสนุก วันนี้กลับไม่สนุกอีกต่อไปแล้ว จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าครั้งล่าสุดที่ใจเต้นแรง ตาเป็นประกายเกิดขึ้นตอนไหน ไม่ว่าจะงานที่เคยหลงใหล งานอดิเรก หรือสิ่งที่ทำแค่เพราะอยากจะทำ จากแรงผลักดันแปรเปลี่ยนไปเป็นความกดดัน และความคาดหวังผลลัพธ์ที่ดีที่สุด รอยยิ้มที่เคยมี เริ่มถูกแทนที่ด้วยความเจ็บปวดและว่างเปล่า xn--72czbs0gd7b9c.com/